วันเสด็จ ถาวรสุข : รองผู้ว่าการ ด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ ที่เราเรียกจนติดปากว่า สะพานพุทธ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่อยู่ในใจข้าพเจ้าเสมอมา

ด้วยความที่เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงมีโอกาสใช้ชีวิตสมัยวัยรุ่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไป-กลับจากบ้านพักไปโรงเรียน หรือจากโรงเรียนไปยังที่ต่างๆ ประกอบกับสมัยนั้น สะพานพุทธเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และสามารถเปิด-ปิด ให้เรือขนาดใหญ่ซึ่งสัญจรอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านไปมาได้ จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ข้าพเจ้า และเพื่อนๆ เสมอ

นอกจากนั้นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ข้าพเจ้าและสหาย ชื่นชอบ เมื่อมีเวลา คือการแข่งกันทายว่ารถคันต่อไปที่จะวิ่งข้ามสะพานมาเป็นรถยี่ห้ออะไร

ถึงแม้ปัจจุบัน ข้าพเจ้าจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ผ่านแถวนั้นบ่อยนัก แต่ว่าโอกาสใดที่ได้ลงเรือล่องในแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืนแล้ว แสงไฟที่ส่องสว่างแก่สะพานแห่งนี้ นอกจากจะให้ความงดงามทางสายตาแล้ว ยังทำให้ข้าพเจ้าได้รำลึกถึงเหตุการณ์ ในวัยเยาว์อย่างไม่ลืมเลือนเช่นเดียวกัน”

สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ‘สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์’ เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) เมื่อกรุงเทพมหานครครบ ๑๕๐ ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยัง
เป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบ พระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งที่ ๒ ถัดจาก สะพานพระราม ๖ ที่สร้างในสมัย รัชกาลที่ ๖

นอกจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะเป็นที่ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นลานกีฬาของเด็กนักเรียนในย่านนั้นด้วย ทั้งฟุตบอลและสเก๊ตบอร์ด ก็จะมีให้เห็นทุกวันในช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก สำหรับในยามค่ำคืน พื้นที่ใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้า และสะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ประมาณ ๑๘ นาฬิกา เป็นต้นไปจนถึง ๒๓ นาฬิกาโดยประมาณ จะเป็นตลาดนัดยามค่ำคืนที่มีสินค้าแฟชั่นหลากหลาย โดยเฉพาะสินค้ามือสอง อาทิ เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับอีกทั้งยังมีศิลปินอิสระ ส่วนมากเป็นนักศึกษาเพาะช่างมารับวาดภาพและขายภาพวาดด้วยสนนราคาที่แสนถูก ประกอบกับรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ทำให้ตลาดสะพานพุทธ
ในปัจจุบันคลาคล่ำด้วยวัยรุ่นจำนวนมากทุกค่ำคืน

สถานที่ : สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ที่ตั้ง : เชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ที่ปลายถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กับปลายถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี

แสดงความคิดเห็น

 
Top