ปราย พันแสง
“ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ น่าจะเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ หรืออาจจะสวยที่สุดในประเทศไทย นอกจากสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมการสร้างอาคารเป็นแบบเดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบโดยมาริโอ ตามานโย (Mario Tamango) สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในบ้านเราสมัยรัชกาลที่ ๕ จุดเริ่มและแรงบันดาลใจในการก่อสร้างอาคารนี้ก็สวยงามมากเช่นกัน เพราะอาคารสร้างขึ้นจากความรักที่คุณหมอเฮส์มีต่อคุณเจนนี่ ภรรยาของท่าน สถานที่แห่งนี้ถือว่าเป็นทัชมาฮาลสำหรับคนรักหนังสือในเมืองไทยนั่นเอง ข้างในห้องสมุดมีห้องแสดงงานศิลปะ “โรทันดา แกลเลอรี่” มีผลงานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดีมาจัดแสดงอยู่ตลอดปี บางครั้งก็มีศิลปินหรือนักเขียนมานั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเองด้วยความประทับใจส่วนตัวเกี่ยวกับห้องสมุดนี้เคยนำมาเขียนเป็นฉากในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง “ประกายตาหางนกยูง” เพิ่งรวมอยู่ในพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่ง (Miss you คิดถึง ระลึกถึง นึกถึง) เรื่องสั้นเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างรักต่างรุ่นของผู้ชายผู้หญิงสองสามคู่ที่ลุ่มหลง อยู่ในโลกแห่งการอ่านอย่างมีความสุข เขียนขึ้นมาเพราะอยากให้คนอ่านได้รับรู้ว่าโลกการอ่านนั้นมันสวยงาม และน่ารักมาก”
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
ตั้งอยู่ในพื้นที่ ๑ ไร่เศษ ริมถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กทม. เป็นห้องสมุดที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อยก่อตั้งในสมัย หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ ราวปี พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยภรรยาของหมอทั้งสองทำเป็นบาร์ซ่าร์เพื่อหาเงินมาซื้อหนังสือเพิ่มเติมแล้วแลกกันอ่าน และตั้งเป็น “The Bangkok Ladies Library Association” โดยไม่หวังผลกำไรจากนั้นห้องสมุดก็ร่อนเร่ไปอาศัยสถานที่ต่างๆอยู่ระยะหนึ่งต่อมามีแหม่ม ชาวเดนมาร์ก ชื่อ Jennie Neilson Hays มาเป็นกรรมการอยู่ ๒๕ ปี จนเสียชีวิต พ.ศ. ๒๔๖๔ สามีของเธอคือหมอ T. Heyward Hays จึงได้สร้างตึกหลังนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ภรรยา ตึกห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ หลังนี้เป็นตึกชั้นเดียวมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณ ประกอบด้วยหลังคาโค้งทรงกลม (Dome) หัวเสาทุกต้นสลักลวดลายสวยงาม ใต้ตัวตึกเป็นบ่อน้ำ เพื่อให้ความเย็นภายในอาคาร ปัจจุบันห้องสมุดมีหนังสือให้บริการมากกว่า ๒ หมื่นเล่ม เป็นหนังสือภาษาอังกฤษทั้งหมดทั้งเก่า และใหม่ให้บริการสำหรับสมาชิกไม่จำกัดชาติ ภาษา อายุ ห้องสมุดแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่และกรรมการบริหารงานเป็นผู้หญิงทั้งหมด ให้บริการเฉพาะหนังสือบันเทิงเท่านั้น ระบบที่ใช้เป็นแบบ ดิวอี้ ในการเลือกซื้อและคัดหนังสือออกจะทำกันทุกปีโดยคณะกรรมการ ส่วนหนังสือที่เก่ามากจะเก็บรักษาไว้ในตู้หนังสือที่หายาก
สถานที่ : ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ Neilson Hays Library
ที่ตั้ง : ๑๙๕ ถนนสุรวงศ์ แขวงสุรวงศ์ บางรัก กรุงเทพฯ ๑๐๕๐๐
โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๓๓ ๑๗๓๑
เว็บไซต์ : http://www.neilsonhayslibrary.com
แสดงความคิดเห็น