นนทรีย์ นิมิบุตร
กิจกรรมการจัดการแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
“ทุกครั้งที่จะเริ่มทำงานผมจะไปสถานที่ๆ หนึ่งเสมอนั่นก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแถวสนามหลวง เพราะผมจะได้ศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับรากเหง้าของเรา และยังทำให้เราได้เห็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่เราเคยมีเคยใช้ ดูแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่นและภาคภูมิใจอยู่ลึกๆ เสมอ ผมว่ามันเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทย และชาวต่างชาติที่จะได้ศึกษาและเข้าใจในความเป็นคนไทยมากขึ้น”
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน แห่งแรกของประเทศไทยซึ่งตั้งขี้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ แต่เดิมเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือวังหน้า ซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันนับเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้น ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่างๆ นับว่าเป็นบ่อเกิดของพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๗ ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต จึงได้มีประกาศยกเลิกตำแหน่งพระอุปราชแล้วทำให้สถานที่ในพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดียไปตั้งจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า ๓ องค์ โดยใช้พระที่นั่งด้านหน้าคือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า”
โบราณวัตถุที่สำคัญภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
• พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ สำริดกะไหล่ทอง สูง ๑๖๖ เซนติเมตร
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ สำริด สูง ๑๐๒ เซนติเมตร
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา สูงพร้อมฐาน ๗๐.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๔๓ เซนติเมตร
• พระอวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๔) สำริด สูง ๖๓ เซนติเมตร
• พระคเณศ ศิลปะชวาตะวันออก พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ศิลา สูง ๑๗๒ เซนติเมตร
• ตู้ลายรดน้ำ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓
• ตะเกียงโรมัน ศิลปะโรมัน สำริด สูง ๒๗ เซนติเมตร
• ศิลาจารึกหลักที่ ๑ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พ.ศ. ๑๘๓๕ ศิลา สูง ๑๑๑ เซนติเมตร
• พระพุทธรูปปางประทานธรรม ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ สำริด สูง ๔๙ เซนติเมตร
• พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะศรีวิชัย สกุลช่างไชยา พ.ศ. ๑๗๒๖ สำริด สูง ๑๖๐ เซนติเมตร
• เศียรพระโพธิสัตว์ ศิลปะเขมร แบบกำพงพระ อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ สำริด สูง ๗๓ เซนติเมตร
• พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ศิลา สูง ๒๐๒ เซนติเมตร
• พระอิศวร ศิลปะสุโขทัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สำริด สูงพร้อมฐาน ๓๐๕ เซนติเมตร
• พระนารายณ์ ศิลปะร่วมแบบพนมดา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ศิลา สูง ๒๐๗ เซนติเมตร
• บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม ไม้ลงรักปิดทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
• พระที่นั่งราเชนทรยาน ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ไม้ลงรักปิดทอง
• เวชยันราชรถศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ไม้ลงรักปิดทอง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา ปัจจุบันแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ประวัติศาสตร์ชาติไทย
- ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี
- ประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา
- อาคารโบราณสถาน
ที่ตั้ง : ถนน หน้าพระธาตุ แขวง พระบรมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐
โทรสาร : ๐ ๒๒๒๔ ๙๙๑๑
ฝ่ายบริหารการศึกษา : ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓
โทรสาร : ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๔
ฝ่ายวิชาการ : ๐๒๒๒๔๑๔๐๒
โทรสาร : ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒
แสดงความคิดเห็น