ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร : ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร

“หวังอยากให้หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนเสริมสร้างศักดิ์ศรีแก่กรุงเทพมหานคร สู่ความเป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลก ทั้งยังเป็นสถานที่ ให้การศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ชุมชน และประชาชน โดยเชื่อมโยงทุนเดิมจากมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้เกิดองค์ความรู้หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และระดมทรัพยากรในการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นองค์กรส่งเสริมสร้างโอกาส ประสานการดำเนิน งานของหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างและพัฒนาระบบการบริหารจัดการหอศิลปฯ สู่ระดับมาตรฐานสากลและถูกใช้เป็นเวทีใน การนำเสนอและบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ”

หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ บริเวณสี่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือครั้งสำคัญในการส่งเสริมศิลปะ ระหว่างกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายประชาชน เพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตัวอาคารสูง ๙ ชั้น (บวกอีก ๒ ชั้นใต้ดิน) โดยในตัวอาคารถูกออกแบบมาให้เป็นทรงกระบอก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาคารได้ด้วยทางเดินวนเป็นแนวเอียงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้ามาชมผลงานสามารถชมได้ต่อเนื่องในแต่ละชั้น นอกจากนี้ตัวอาคารยังออกแบบให้สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกได้ โดยที่แสงไม่แรงพอจะที่เข้ามาถึงขนาดทำลายผลงานศิลปะที่แสดงอยู่ข้างในได้ นอกจากห้องนิทรรศการที่มีอยู่หลายส่วนแล้ว ภายในยังมีส่วนที่เป็นห้องสมุดประชาชน ห้องปฏิบัติการศิลปะ ห้องอเนกประสงค์ ๓๐๐ ที่นั่ง ร้านค้า รวมไปถึงโรงภาพยนตร์-โรงละครขนาด ๒๒๒ ที่นั่ง

ในห้วงเวลาแห่งความประทับใจ ของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในวันที่ ๑๙ ส.ค. ๒๔๔๒ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังเขตปทุมวัน เพื่อทรงเปิดอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

ทันทีที่เสด็จไปถึงหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วงดนตรีไทยบรรเลงเพลงสรรเสริญ พระบารมีก็ดังขึ้น ในการนี้มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการหอ ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการดำเนินงานเฝ้าฯ รับเสด็จ ก่อนจะทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สูจิบัตร และกราบบังคมทูลรายงานความ เป็นมาของหอศิลป์ฯ และวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการศิลปะเฉลิมพระเกียรติ และหลาย นิทรรศการที่น่าสนใจภายในพื้นที่ของหอศิลป์ฯ ที่มีทั้งหมด ๙ ชั้น เช่น นิทรรศการ “ภาพของ พ่อ...บารมีแห่งแผ่นดิน” นิทรรศการโขนชุดพรหมมาศ นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “ความเงียบ... ในเพลงกล่อม” นิทรรศการเพลงกล่อมลูกของแต่ละภาค นิทรรศการ World Focus & Thai Focus นิทรรศการ “เส้นทางสายพระราชไมตรี” ตลอดจนร้านค้าและห้องเอนกประสงค์ สำหรับ ผู้รักงานศิลปะในแขนงต่างๆ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ และผู้แทนเครือข่ายศิลปิน อ่าน บทกวีถวายพระพร และเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายบทกวี ขณะที่ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ อ่านบทกวีอันไพเราะชื่อ “ไหมแท้ที่แม่ทอ”

จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้า เปิดแพรคลุมป้าย ชื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและประติมากรรม “ช้างเอราวัณ” แล้วเสด็จฯ ขึ้นชั้น ๕ เพื่อฉายพระรูปร่วมกับ นายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้า และคณะกรรมการดำเนินงาน ก่อนจะทรงลง พระนามาภิไธยในแผ่นศิลา แล้วเสด็จฯ ไปยังห้องรับรอง เพื่อประทับพักพระราชอิริยาบถและ ทรงเสด็จฯ ขึ้นชั้น ๙ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติชุด “ภาพของพ่อ...บารมีแห่ง แผ่นดิน”

ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะผลงานของศิลปินอาวุโส และศิลปินชื่อดังของเมืองไทย ที่หาชมได้ยาก เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเสด็จฯ ลงมายังชั้น ๘ เพื่อ ทอดพระเนตรนิทรรศการโขนชุดพรหมมาศ โดยการสนับสนุนของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น นิทรรศการที่แสดงประวัติความเป็นมาของโขน และนิทรรศการทางดนตรี ฉากจำลองท้องพระโรง ฉากโรงพิธี แบบสร้างฉาก เครื่องสูงพัสตราภรณ์ หุ่นตัวละครเอก ถนิมพิมพาภรณ์ ศิราภรณ์ นิทรรศการภาพถ่าย โรงปั้นช้างจำลอง ห้องฉายวีดิทัศน์ รวมทั้งร้านขายของที่ระลึก หลังจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทอดพระเนตรประติมากรรม “ช้างเอราวัณ” ผลงาน ของ อ.สุดสาคร ชายเสม บริเวณชั้น ๑ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สถานที่ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : สี่แยกปทุมวัน หัวมุมถนนพระรามที่ ๑ และ ถนนพญาไท ตรงข้าม มาบุญครองและสยามดิสคัฟเวอรี่ มีทางเดินเชื่อมต่อกับ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ
โทรศัพท์ : ติดต่อสำนักงานหอศิลปะฯ ๐ ๒๒๑๔ ๖๖๓๐-๘

แสดงความคิดเห็น

 
Top