ชมพู ฟรุตตี้ - สุทธิพงษ์ วัฒนจัง

“ทุกครั้งที่เห็นพระปรางค์วัดอรุณ หรือได้ยินชื่อวัดอรุณก็รู้สึกว่ากำลังจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ความรู้สึกมันรู้สึกอย่างนั้น เวลาเห็นภาพที่เขาถ่ายวัดอรุณมาทั้งสวยและเจิดจรัสมีมงคล การไปในสถานที่ที่เป็นมงคล เห็นศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นแบบของไทยเรา เป็นเหมือนการกระตุ้นจิตสำนึกว่า นี่คือตัวตนของเรา นี่คือความภาคภูมิใจของเรา นี่คือมงคลแห่งชีวิตของเรา”

วัดอรุณราชวราราม
วัดอรุณราชวราราม
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ๑ ใน ๖ ของไทย เดิมชื่อ “วัดมะกอก” สร้างในสมัยอยุธยาต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดแจ้ง” ล่วงถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ ๒ มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” จึงได้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒

วัดอรุณฯ มีสิ่งโดดเด่น คือ พระปรางองค์ใหญ่ สูงประมาณ ๗๐ เมตร นับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของ
กรุงเทพฯ องค์พระปรางประกอบด้วย กระเบื้องเคลือบด้วยสีต่างๆ หลากลวดลายนับล้านชิ้น สอดสลับไว้
อย่างเป็นระเบียบ ตั้งตระหง่านหันหน้าออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา

สิ่งสำคัญอีกอย่างของวัดอรุณราชวราราม คือ หุ่นปูนปั้นยักษ์จากเรื่องรามเกียรติ์ตัวสูงใหญ่ ยืนเป็นทวาร
บาลอยู่หน้าประตูอุโบสถ ๒ ตน คือ สหัสเดชะ ตัวสีขาว กับทศกันฐ์ ตัวสีเขียว เป็นฝีมือการปั้นของช่างใน
สมัยรัชกาลที่ ๓ ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า “ยักษ์วัดอรุณ” หรือ “ยักษ์วัดแจ้ง” และมีนิทานปรัมปราเรื่องยักษ์วัดแจ้งไปทะเลาะกับยักษ์วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ชกต่อยกันจนที่ดินบริเวณข้างวัดโพธิ์ราบเตียน จึงเรียกขานที่ตรงนั้นว่า “ท่าเตียน”

วัดอรุณราชวรารามสถานที่ : วัดอรุณราชวราราม
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เลขที่ ๓๔ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ : ๐ ๒๘๙๑ ๑๑๔๙
เวลาเปิดทำการ : เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐-๑๗.๓๐ น.
ที่จอดรถ : แนะนำให้หาที่จอดรถฝั่งพระนครหรือท่าเตียน เพื่อลงเรือข้ามฟากจะสะดวกกว่า

แสดงความคิดเห็น

 
Top