กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ
“สถานที่ที่น่าไปท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ก็มีหลายสถานที่แต่ติ๊กเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับจีนๆ จะหาของกิน หรือหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คนจีนจะนึกถึงเยาวราช ไหว้พระไหว้เจ้าตอนต้นปีและถ้าจะหาของศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่างๆ คนจีนจะนึกถึงวัดเล่งเน่ยยี่ ถือเป็นวัดที่ทุกปีทางบ้านต้องไปไหว้ ทั้งสะเดาะเคราะห์ ทั้งเสริมดวงชะตา เพราะว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ ที่วัดเล่งเน่ยยี่แห่งนี้ติ๊กเชื่อมั่นว่าเป็นสถานที่ๆ หลายๆ คนเคยไปขอพรกันด้วย นอกเหนือจากวัดไทยดังๆ ที่หลายคนเคยไปไหว้ ลองมาไหว้ศาลเจ้าแบบจีนกันดูบ้าง”
วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส)
เป็นวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ลักษณะสถาปัตยกรรมทางจีนตอนใต้แห่งสกุลช่างแต่จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง กล่าวคือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า ตัวโครงสร้างเน้นใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุหลัก
บางครั้งคุ้นหูชื่อวัดนี้ว่า “วัดมังกร” เหตุเพราะคำว่า “เล่ง” ในภาษาจีนแต๋จิ๋วแปลว่ามังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่าดอกบัว และคำว่า “ยี่” แปลว่าวัด ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ “วัดมังกรกมลาวาส” พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวจตุโลกบาล จะเห็นเทพเจ้า ๔ องค์ (ข้างละ ๒ องค์) ในชุดนักรบจีน และถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม และเจดีย์ คนจีนเรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึง เทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครองทิศต่างๆ ทั้ง ๔ ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า และะพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าทั้งหมด ๓ องค์ คนจีนเรืยก “ซำป้อหุกโจ้ว” พร้อมพระอรหันต์อีก ๑๘ องค์ หรือคนจีนเรียกว่า “จับโป๊ยหล่อหั่ง”
ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา คนจีนเรียกว่า “ไท้ส่วย เอี๊ยะ” เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา “หั่วท้อเซียงซือกง” และที่นิยมไหว้ขอพรมาก คือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” เทพเจ้าเฮ่งเจีย คนจีนเรียกว่า “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว” พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว”ซึ่งคล้ายกับพระสังกัจจายน์ของคนไทย “กวนอิมผู่สัก” หรือพระโพธิสัตว์กวนอิม “แป๊ะกง” และ “แป๊ะม่า” รวมเทพเจ้าในวัดจะมีทั้งหมด ๕๘ องค์
สถานที่ : วัดเล่งเน่ยยี่
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงระหว่างซอยเจริญกรุง ๑๙ และ ๒๑ ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๒๒ ๓๙๗๕
เวลาเปิดทำการ : เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ น.
ที่จอดรถ : แนะนำให้เดินทางไปโดยรถประจำทาง เพราะหาที่จอดรถยากมาก แต่หากต้องการนำรถส่วนตัวไปจะมีลานจอดรถให้บริการบริเวณถนนเจริญกรุง
แสดงความคิดเห็น