สมชาย ชมภูน้อย : ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดโพธิ์เป็นวัดที่ผมไปบ่อยมาก เพราะสวยงามทั้งกลางวัน และกลางคืน ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยทุกครั้งที่ไป ร่มเงาของพระพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรมที่งดงามภายในวัดจะช่วยให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และเยือกเย็น ที่นี่เป็นที่พักผ่อนของจิตใจอย่างแท้จริง นอกจากนั้นทุกครั้งที่ไปเหมือนได้ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ความรู้ที่ได้จากวัดโพธิ์ไม่เคยหมดสมกับที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย ด้วยภารกิจในความรับผิดชอบ ผมมีโอกาสได้ริเริ่มจัดกิจกรรมที่วัดโพธิ์ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม “ไหว้พระ ๙ วัด” “ไหว้พระประจำรัชกาล” “งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” และจัดทำ Mini Light and Sound “๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์” ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่องค์การยูเนสโกได้มีมติรับรองให้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นเอกสาร “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และนี่เป็นอีกหนึ่งความทรงจำของผมที่วัดโพธิ์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” เป็นอารามหลวงชั้นเอก ที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ ๙๙ องค์ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วยพระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระบรมหาราชวัง ทิศเหนือจรดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจรดถนนสนามไชย ทิศใต้จรดถนนเศรษฐการ และทิศตะวันตกจรดถนนมหาราช

มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจนมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๑ ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลอง กรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ (เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน ๑,๔๔๐ ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ)

สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม

สถานที่ : วัดโพธิ์
ที่ตั้ง : ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๒๑ ๑๓๗๕, ๐ ๒๒๒๒ ๗๘๓๑ และ ๐ ๒๒๒๑ ๙๔๔๙
เวลาเปิดทำการ : เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.
ที่จอดรถ : บริเวณพื้นที่ให้บริการภายในวัด

แสดงความคิดเห็น

 
Top