บิลลี่ โอแกน

“คุณจะได้พบกับรูปแบบชีวิตของคนไทย ที่เราหาดูได้ยากครับ ทั้งเรือแบบเก่าๆ ที่เป็นวิถีชีวิตคนไทยใน

สมัยอดีต ที่ไม่เหมือนในกรุงเทพชั้นใน อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัฒนธรรม ไทย มอญ และมุสลิม ที่น่าสนใจมาก คนมาเที่ยวยังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ครับ ที่นี่มาแล้วครบ ทั้งวิถีชีวิต วัดวาอาราม ศิลป์ ภาพเขียน คุ้ม
ครับ ลองแวะไปดูนะครับ”

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร
เขตลาดกระบังมีจุดเด่นตรงที่ครั้งหนึ่งผู้คนต่างมีวิถีชีวิตริมน้ำ ถ้านับจำนวนที่นี่มีคูคลองมากกว่า ๗๐ คลอง โดยมีคลองสายหลักคือ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองนี้เป็นคลองขุดที่เกิดมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ โดยขุดต่อจากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองนี้มีความยาวถึง ๔๖ กิโลเมตร ในส่วนของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลาดกระบังนั้น เขตลาดกระบังเดิมเป็นอำเภอชื่อ “อำเภอแสนแสบ” ราวปี พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๖๙ พลเอกสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นทรงเห็นว่าชื่อของอำเภอแสนแสบไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะคลองแสนแสบเป็นคลองที่ผ่านไปทางอำเภอมีนบุรี มิได้ผ่านมาทางอำเภอแสนแสบแต่อย่างใด จึงทรงให้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอแสนแสบ” เป็น “อำเภอลาดกระบัง”

ในที่นี้บุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชน คือเจ้าจอมมารดากลิ่น (ซ่อนกลิ่น) ใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์มีอนุสรณ์สถานเจ้าจอมมารดากลิ่น ท่านเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ มีเชื้อสายมอญ ได้สร้างวัดสุทธาโภชน์เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรม และเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุ สามเณร และเป็นผู้สานสัมพันธ์ระหว่างชาวรามัญกับชาวไทยในท้องถิ่นลาดกระบังให้อยู่ ร่วมกันอย่างสงบสุข นอกจากนี้ท่านยังเป็นสตรีคนแรกที่แปลนวนิยายภาษาอังกฤษ

บุคคลสำคัญอีกท่านที่คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ ๕ ท่านได้จับจองที่ดินบริเวณริมคลองเนื้อที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ โดยตั้งใจจะให้ที่ดินผืนนี้เป็นสถานศึกษา และหน่วยงานราชการมากมาย เช่น หอสมุดแห่งชาติลาดกระบังเฉลิมพระเกียรติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โรงเรียนพรตพิทยาพยัต วิทยาลัยช่างศิลป์ เป็นต้น

สถานที่สำคัญที่น่าสนใจที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร
วัดลาดกระบัง วัดนี้มีพระพุทธบุษโยภาส หรือ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่อด้วยอิฐพอกปูนสีขาวทั้งองค์ ภายในอุโบสถหลังใหม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสวยงามมาก ภาพด้านหลังองค์พระมีเหล่าเทวดาและช้างเอราวัณ ส่วนผนังใกล้บานหน้าต่างทั้งสองด้านเป็นภาพพุทธประวัติ และที่ไม่ควรพลาดชมคือ อุโบสถหลังเก่าที่สวยงามและมากด้วยความหมายด้วยการร่วมแรงกันสร้างของคนใน ชุมชน ตลาดริมน้ำหัวตะเข้ ภาพอดีตของที่นี่จะมีความแจ่มชัดมีชีวิตชีวา เพราะมีบ้านเรือนที่ยังคงบรรยากาศเก่าๆ อยู่สองฝั่งคลอง สะพานข้ามคลองสำหรับให้ผู้คนสัญจรข้ามไปมาบางจุดยังเป็นสะพานไม้ ถ้าตรงกับวันที่มีกิจกรรมของเขตจะเป็นวันที่พิเศษเพราะจะมีแม่ค้าทำของมาขายมากกว่าทุกวัน ทุกคนได้รับคูปองฟรีแลกซื้ออาหารและของที่ระลึกติดมือกลับบ้าน หอศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป์ จะจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ได้มอบให้เป็นสมบัติของวิทยาลัย จัดแสดงผลงานของศิษย์เก่า คณาจารย์ และศิษย์ปัจจุบัน ภาพเขียนมีเป็นร้อยภาพให้ชมกันละลานตาถ้าดูกันอย่างจริงๆ จังๆ คงต้องใช้เวลาทั้งวัน วัดสุทธาโภชน์ วัดนี้ต่างกับที่อื่นตรงที่เป็นวัดของชุมชนชาวมอญใน น้องๆ นักเรียนได้แต่งตัวสวยงามตามแบบชาวมอญมายืนต้อนรับ (ถ้าไปตรงกับวันที่ทางเขตได้จัดกิจกรรมให้กับผู้มาเยือนในแต่ละปี) จะมีการเล่นสะบ้าของชาวมอญให้ชมด้วย การเล่นสะบ้าปกติจะมีอยู่ในงานประเพณีสงกรานต์ชาวมอญ วัดนี้เองที่เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ภายในพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงประเพณีน่าสืบสานตามแบบอย่างอารยธรรมพื้นเมือง เนื่องจากเขตลาดกระบังมีชุมชนอพยพเข้ามาตั้งรกรากทั้งชาวมอญ ชาวมุสลิมผนวกกับชุมชนที่อยู่ดั้งเดิม ทำให้เขตลาดกระบังมีประเพณีการละเล่นที่โดดเด่น เช่น ตักบาตรพระร้อย ตักบาตรน้ำผึ้ง แห่หงส์ตะขาบ การเล่นสะบ้า เป็นต้น ภายในวัดสุทธาโภชน์ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายที่ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เรือมาด เรือเหล่านี้เมื่อก่อนอยู่ในวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน และใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาตามที่ต่างๆ ตัวเรือมักทำด้วยไม้สักและไม้ตะเคียน แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีการนำมาใช้ เรือมาดเหล่านี้ชาวบ้านได้นำมาบริจาคให้กับวัดและทางวัดมีฝ่ายซ่อมบำรุง ซึ่งน่าจะมีมากกว่า ๕๐ ลำ ในงานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ได้มีการนำเรือเหล่านี้ออกมาใช้ งานตักบาตรพระร้อยจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี นอกจากนี้ยังมีเรือนไม้สักโบราณ ข้างในมีข้าวของเครื่องใช้ของพระภิกษุ มีหินบดยา ตู้เก็บพระไตรปิฎก วัดทิพพาวาส วัดนี้มีอุโบสถที่สร้างด้วยไม้สักทอง มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี อุโบสถหลังนี้หันหน้าไปทาง ทิศตะวันตกซึ่งผิดกับที่อื่น ทั้งนี้เป็นการสร้างตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งมีลำคลองอยู่ด้านหน้า

กิจกรรม
ด้วยความต้องการปลุกจิตสำนึกของผู้คนทั้งในชุมชนและคนทั่วไป สำนักงานเขตฯ ลาดกระบัง ได้จัดกิจกรรมโดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ แหล่งวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว ของชาวลาดกระบัง” ถือเป็นกิจกรรมพิเศษเฉพาะปีละครั้งเท่านั้น โดยหลายภาคส่วนได้ประสานงานกันเพื่อพลิกฟื้นวิถีชีวิตริมน้ำ อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม พร้อมกันกับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพราะเล็งเห็นว่าการเริ่มต้นทำสิ่งเล็กๆ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

สถานที่ : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง
ที่ตั้ง : วัดสุทธาโภชน์ เลขที่ ๑๓๒ หมู่ ๗ ซอยฉลองกรุง ๒ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ๑๐๕๒๐
บริหารจัดการโดย : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขตลาดกระบัง และก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๘
โทรศัพท์ : ๐ ๒๓๖๐ ๖๕๒๐
เวลาทำการ : เปิดพุธ-อาทิตย์ ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น.
ค่าเข้าชม : ฟรี

แสดงความคิดเห็น

 
Top