ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน

“เมื่อเอ่ยถึงสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในบ้านเราเมืองเราผมให้ความสำคัญไปที่ วัดพระแก้ว วัดคู่บ้าน คู่เมืองไทย และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยทุกคนควรจะได้ไปกราบไหว้ บูชา และให้ความสำคัญ นอกจากจะมีพระคู่บ้านคู่เมืองประจำอยู่ภายในวัดพระแก้วแล้วนั้น ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีความโดดเด่นสวยงามด้าน สถาปัตยกรรมและประติมากรรมล้ำค่ามากมาย จึงเหมาะที่จะเป็นสถานที่ๆ น่าสนใจที่สุดของประเทศไทย”

วัดพระแก้ว
วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘วัดพระแก้ว’ นั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา วัดพระแก้วอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ต่อมารัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาลเพราะเป็นวัดสำคัญจึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ผ่านมาการบูรณปฏิสังขรณ์มุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงาม และรักษาคุณค่าของช่างศิลป์ไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป

ข้อแนะนำในการเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

  • แต่งกายให้สุภาพ ไม่ควรสวมเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้น กางเกง ๙ ส่วน
  • ไม่ควรใช้แฟลชในการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับภาพจิตรกรรมได้
  • ภายในอาคารอื่นทั้งหมดโดยเฉพาะพระอุโบสถ ห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ และยึดสื่อบันทึก

สถานที่ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง เขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออก ติดท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๒๒ ๕๘๖๔ ต่อ ๑๘

แสดงความคิดเห็น

 
Top