กฤษณะ ไชยรัตน์

“ความแตกต่างของวัดไตรมิตร กับสถานที่อื่นๆ คือ มีหลักการออกแบบสมัยใหม่ หรือเรียกว่า อารยะสถา-
ปัตย์ เป็นการออกแบบก่อสร้างได้เข้าถึงรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๔ ที่เอื้อเฟื้อ ต่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพ
ร่างกาย ตรงตามหลักสิทธิมนุษยชน เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบก่อสร้างยุคใหม่ ที่ไม่ใช่แค่สวยงามเท่านั้น ยังต้องสามารถเข้าถึงและเข้าได้”

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า ‘วัดสามจีน’ เข้าใจกันว่า จีน ๓ คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ ตามหลักฐานการขอพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงปี พ.ศ.2499 ระบุว่า สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาราวปี พ.ศ. ๑๓๗๔

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่เป็นชื่อวัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งมีความหมายว่าเพื่อน ๓ คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณของวัด ภายในวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร มีสิ่งมงคลสำคัญยิ่งคือ ‘พระสุโขทัยไตรมิตร’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสส์บุ๊คออฟเรคคอร์ด พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง ๓.๐๑ เมตร สูง ๓.๙๑ เมตร องค์พระสามารถถอดได้ ๙ องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ ๔๐% พระพักตร์มีเนื้อทอง ๘๐% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ ๙๙.๙๙% รวมน้ำหนักทั้งองค์พระประมาณ ๕ ตันครึ่ง

สถานที่ : วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
ที่ตั้ง : ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๒๕ ๙๗๗๕

แสดงความคิดเห็น

 
Top